ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหา อย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมการโปรแกรมด้วย Scratch ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผู้วิจัย นางวิทชรียา ทองผาย หน่วยงาน โรงเรียนเมืองพลพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ปีการการศึกษา 2562 บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมการโปรแกรมด้วย Scratch ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยมีขั้นตอนในการพัฒนารูปแบบแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน 2) การออกแบบและพัฒนารูปแบบการสอน 3) การทดลองใช้รูปแบบการสอน และ4) การประเมินผล/ปรับปรุงรูปแบบการสอน โดยการวิจัยครั้งนี้ได้ทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเมืองพลพิทยาคม อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น จำนวน 46 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม(Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบสอบถามประเมินความต้องการพื้นฐานของนักเรียนเพื่อการจัดการเรียนรู้รายวิชา ว21103 วิทยาการคำนวณ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนรายวิชาวิทยาการคำนวณเพื่อรวบรวมแนวคิดในการจัดกิจกรรมรูปแบบการสอน 3) แผนการจัดการเรียนรู้และบทเรียนบนเครือข่ายด้วยรูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมการโปรแกรมด้วย Scratch 4) แบบทดสอบย่อยและแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 5) แบบประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และแบบประเมินความสามารถในการสร้างนวัตกรรมการโปรแกรมด้วย Scratch และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมการโปรแกรมด้วย Scratch การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test แบบ Dependent Samples และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า ในสภาพปัจจุบันปัญหาในการเรียน คือ นักเรียนยังขาดกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล จากสถานการณ์ปัญหา นักเรียนยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งไหนจำเป็นและไม่จำเป็น ส่งผลให้นักเรียนถ่ายทอดรายละเอียดของปัญหาไม่ได้ นอกจากนี้กระบวนการเรียนสอนที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้นักเรียนยังไม่คุ้นเคยกับการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการคิดแก้ปัญหา ประกอบกับสื่อการเรียน การสอนยังมีค่อนข้างน้อย และตัวอย่างในการทำกิจกรรมต่างๆ ยังไม่เพียงพอให้นักเรียนเข้าใจได้ง่าย ทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการคิด แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม การจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบการสอน DUPIM Model จะส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนากระบวนการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น สามารถสร้างนวัตกรรมการโปรแกรมด้วย Scratch เพื่อแก้ปัญหาได้ 2. ผลการพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมการโปรแกรมด้วย Scratch ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้รูปแบบกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นมีชื่อเรียกว่า DUPIM Model โดยรูปแบบการเรียนการสอนมีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ เนื้อหา กระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล เงื่อนไขในการนำไปใช้ รวมทั้งแนวคิดการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และการประเมินความสามารถของนักเรียนในกระบวนการจัดกิจกรรมรูปแบบการสอน DUPIM Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีส่วนประกอบ ดังนี้ 1) การกำหนดปัญหา (Defining the Problem : D) 2) ทำความเข้าใจปัญหา (Understanding the Problem: U ) 3) วางแผนการแก้ปัญหา (Planning the Solution : P ) 4) ดำเนินการแก้ปัญหา (Implementing the Solution: I)
5) ตรวจสอบและประเมินผล (Monitoring and Evaluation) ผลการประเมินคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่านโดยภาพรวมอยู่อันดับคุณภาพดี แสดงว่า รูปแบบการสอนมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และมีความเป็นไปได้ 3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมการโปรแกรมด้วย Scratch ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการเรียนรู้ด้วยการสอนแบบนี้มีความสนใจในการเรียน ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรมเป็นอย่างดี นำเสนอผลงานเป็นที่น่าพอใจผลการทดลองใช้รูปแบบการสอนมีประสิทธิภาพ(E1/E2) = 85.94/84.57 4. ผลการประเมินผล/ปรับปรุงรูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมการโปรแกรมด้วย Scratch ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า 4.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านความรู้ ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมการโปรแกรมด้วย Scratch ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมการโปรแกรมด้วย Scratch ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อยู่ในระดับมากที่สุด